สำหรับเพื่อนๆบางคนที่อยู่ในเมืองที่การคมนาคมไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่นัก ก็อาจที่จะอยากซื้อรถส่วนตัวมาใช้ ทั้งนี้หากเพื่อนๆตัดสินใจที่จะซื้อรถมือหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีราคาที่แพงกว่า แต่ก็สามารถตัดปัญหาในส่วนของสภาพรถออกไปได้ อย่างไรก็ตาม นักเรียนไทยที่เรียนอยู่ในอเมริกาหลายๆคนก็เลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายโดยการเลือกซื้อรถใช้แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีปัญหาต่างๆตามมาเช่นเรื่องของสภาพรถ เรื่องการต่อรองราคา เรื่องค่าซ่อมบำรุง หรือปัญหาอื่นๆตามมา ซึ่งในบางครั้งค่าใช้ซ่อมบำรุงอาจจะแพงมากและไม่คุ้มกันหากเลือกซื้อรถที่มีราคาถูกเกินไปโดยที่ไม่ทำการเช็คข้อมูลก่อน ผมจึงอยากรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกซื้อรถมือสองให้เพื่อนๆพอได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อรถมือสอง

ขั้นตอนการเลือกซื้อรถ

การเช็คราคากลาง
ก่อนที่เพื่อนๆจะค้นหารถที่ต้องการนั้น ผมอยากจะแนะนำให้เพื่อนๆเข้าไปในเวบ www.kbb.com เพื่อทำการเช็คราคากลางของรถเสียก่อน เพื่อที่ว่าเพื่อนๆจะได้มีการประมาณงบประมาณคร่าวๆในการเลือกซื้อรถแต่ละประเภท ทั้งนี้ในเวบดังกล่าวจะมีราคากลางทั้งในส่วนของรถมือหนึ่งและรถใช้แล้วดังนี้

ราคารถมือหนึ่งของทาง Kelly Blue Book แบ่งออกเป็น 3 กรณีคือ

  1. MSRP (Manufacturer Suggested Retail Price) โดยราคานี้ทางผู้ผลิตรถแต่ละยี่ห้อจะเป็นผู้กำหนดราคานี้มา โดยราคาที่แสดงจะเป็นราคาของรถที่มีอุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน โดยไม่มีออพชั่นพิเศษอื่นๆเพิ่มเติม
  2. Invoice / Dealer Invoice เป็นราคาที่ทางผู้ผลิตรถทำการชาร์ตราคากับทาง Dealer เช่นเดียวกันราคาที่แสดงนั้นเป็นราคาของรถที่มีเพียงแค่อุปกรณ์ขั้นพื้นฐานเท่านั้น ทั้งนี้มีผู้แนะนำว่า หากเพื่อนๆต้องการซื้อรถมือหนึ่งให้พยายามต่อรองราคาให้ได้ที่ราคา Invoice เพราะเนื่องจากที่ราคานี้ ทาง Dealer เองก็จะได้กำไรอยู่แล้วจำนวนนึง แต่หากเพื่อนๆต้องซื้อที่ราคา MSRP ก็เสมือนกับว่าเพื่อนๆจะโดนชาร์ตราคาเพิ่มเติมเข้าไปอีก
  3. New Car Blue Book Value เป็นราคาที่ทาง KBB ได้รวบรวมข้อมูลราคาที่ทางผู้บริโภคจ่ายเงินจริงๆ โดยมีความเป็นไปได้ว่าราคาที่ผู้บริโภคจ่ายจริงนี้จะสูงกว่าราคา MSRP หรือ Invoice เนื่องจากผู้บริโภคอาจเพิ่มออพชั่นพิเศษ จึงทำให้ราคาที่จ่ายจริงนั้นสูงกว่าราคาปกติ

ราคารถมือสองของทาง Kelly Blue Book จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีใหญ่ๆคือ

Trade-In Value เป็นราคาที่เพื่อนๆสามารถใช้เป็นมาตรฐานการต่อรองราคา หากซื้อรถจากทาง Dealer

Private Party Value เป็นราคาที่เพื่อนๆสามารถประมาณคร่าวๆในการต่อรองราคาหากซื้อจากเจ้าของรถโดยตรง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อราคารถว่าจะแพงหรือถูกนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเช่น ระยะทางที่ใช้ไปแล้ว (Mile), ยี่ห้อ, รุ่น, ปีที่ซื้อครั้งแรก, สภาพรถ และ Option ต่างๆที่ติดมากับรถ นอกจากนั้นหากซื้อกับเจ้าของรถเองแล้ว ราคาจะถูกกว่าซื้อกับ Dealer โดยเปรียบเทียบ

การหาซื้อรถ
การหาซื้อรถสามารถซื้อได้จาก 2 แหล่งคือ เจ้าของรถเอง และ Dealer หากเราต้องการที่จะซื้อกับตัวเจ้าของรถเองนั้น เพื่อนๆสามารถที่จะเข้าไปดูที่เวบไซท์ www.craigslist.org โดยในเวบนี้จะมีทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของรถเองและ Dealer เข้ามาโพสต์ขายรถ นอกจากนั้นก็ยังมีเวบไซท์อื่นๆที่เพื่อนๆสามารถค้นหารถที่ต้องการได้เช่น www.cars.com, www.autotrader.com, www.carmax.com, www.edmunds.com, www.kbb.com นอกจากนั้นหากเพื่อนๆอาจจะไปเดินตามร้านขายของสะดวกซื้อ ซึ่งเค้ามักจะมีชั้นวางนิตยสารขายรถให้หยิบได้ฟรี หรือหากมีเวลาก็อาจจะไปเดินดูรถตามเต๊นท์ขายรถเลยก็สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งนี้หากเพื่อนๆซื้อรถจาก Dealer นั้นเพื่อนๆต้องทำการเสีย Sale Tax ด้วยตามอัตราในแต่ละรัฐ แต่หากเพื่อนๆซื้อกับเจ้าของโดยตรง สำหรับบางคนเค้าก็อาจจะรวม Tax เข้าไปในราคาขายแล้วหรือพูดง่ายๆว่าไม่ต้องเสีย Tax เพิ่มเติมอีก

หลังจากที่หารถที่ถูกใจได้แล้วนะครับ ก่อนที่จะขอนัดดูรถกับทางเจ้าของหรือ Dealer เพื่อนๆควรถามข้อมูลในเบื้องต้นก่อนไปดูรถจริงเพื่อไม่ให้เสียเวลาครับ

ตัวอย่างคำถาม
Why do you want to sell this car?
Are you the first hand user?
Has this car had any accident or any concern? (Sorry for honestly asking)
Is it automatic or manual transmission or both?
What’s the interior color?
How many miles has your car been used?
Do you smoke or have any pet in the car?
Does it have any scratch?
Can you provide me a VIN number?

สำหรับการหาซื้อรถนั้น หากเป็นไปได้เราควรหาเพื่อนที่พอมีประสบการณ์ หรือมีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับเครื่องไปกับเราด้วย หากไม่มีจริงๆเพื่อนๆอาจจะลองติดต่อกับอู่ซ่อมรถเพื่อจ้างเค้าไปช่วยดูรถกับเราด้วยก็ได้ครับ ซึ่งวิธีการเช็ครถเบื้องต้นนั้นก็อาจจะดูประมาณว่า เวลาสตาร์ทรถแล้วมีน้ำหรือของเหลวหยดลงมาบ้างรึปล่าว ลองจับเกียร์เหยียบคันเร่งดูว่ามันหลวมๆบ้างมั๊ย แอร์เย็นมั๊ย และที่สำคัญให้ลองขับครับ อาจจะลองขับไปในทางที่มันกันดารหน่อยหรือขับไปที่ๆมีพวก Bumper แล้วสังเกตเสียงเวลาที่กระแทกกับ Bumper อย่างไรก็ตามผมแนะนำว่าให้ลองถามคนที่เคยมีประสบการณ์ซื้อรถมาก่อนเรานะครับ เพราะเชื่อแน่ว่าก่อนที่เค้าจะซื้อ ก็คงหาข้อมูลมาพอสมควร อย่างน้อยให้พอมีเบสิคว่าจะต้องดูอะไรคร่าวๆบ้างก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

การทำประกันรถ
นอกจากค่ารถที่จะต้องจ่ายไปแล้วนั้น ก็ควรที่จะเผื่อค่าใช้จ่ายในการประกันรถด้วย เนื่องจากสำหรับในประเทศสหรัฐอเมริการถทุกคันจะต้องมีการทำประกันทุกคัน โดยทั่วไปแล้วค่าเบี้ยประกันจะอยู่ประมาณ 500 – 1000 เหรียญต่อปี โดยค่าเบี้ยประกันนั้นจะแพงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆโดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆดังนี้

  1. ประเภทกรมธรรม์ โดยเพื่อนๆอาจจะเลือกกรมธรรม์ชั้น 1 ซึ่งจะคุ้มครองในทุกๆกรณีไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุ หรือเพื่อนๆอาจะเลือกประกันชั้น 3 ซึ่งจะซ่อมให้เฉพาะรถของคู่กรณีในกรณีที่เราเป็นฝ่ายผิด ส่วนรถเรานั้นเพื่อนๆต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าเสียหาย แต่ในกรณีที่อีกฝ่ายเป็นผู้ผิด คู่กรณีต้องเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้วครับ

นอกจากนั้นแล้วทางบริษัทประกันก็อาจจะมีเงื่อนไขต่างๆให้เพื่อนๆเลือกเพิ่มเติมได้อีกหรือที่เรียกว่า Deduction ซึ่งจะทำให้ค่าเบี้ยประกันแตกต่างกันออกไป โดยหากเพื่อนๆเลือกกรมธรรม์ที่มี Deduction ที่สูงค่าเบี้ยประกันก็จะถูก กล่าวคือ หากมีการเคลมเกิดขึ้น เพื่อนๆจะต้องจ่ายเงินเบื้องต้นจำนวนนึงก่อนถึงจะเคลมได้ ซึ่งหากเงินจำนวนนั้น (Deduction) ยิ่งมีจำนวนมาก ค่าเบี้ยประกันก็จะยิ่งน้อยครับ แต่หากไม่มี Deduction เลย ค่าเบี้ยประกันก็จะแพงที่สุดโดยเปรียบเทียบ

  1. ตัวรถ ราคารถ ยี่ห้อ ปีที่ซื้อรถครั้งแรก ขนาดเครื่องยนต์ หากยิ่งรถดี ใหม่ ยี่ห้อแพง ค่าเบี้ยประกันก็จะยิ่งแพงตามไปด้วย
    3. ตัวผู้ขับ หากเพื่อนๆขับรถมานาน (อายุตามใบขับขี่ที่อเมริกา), มีอายุมาก (หากเพื่อนๆมีอายุไม่เกิน 25 ปี ค่าเบี้ยประกันจะแพง), มีครอบครัว, การศึกษาสูง, ไม่เคยมีประวัติอุบัติเหตุการขับขี่รถเช่าใดๆมาก่อน หรือแม้แต่เป็นผู้หญิง ค่าเบี้ยประกันก็จะถูกลง

สิ่งที่สำคัญเลยนะครับ แม้ว่าเพื่อนๆจะซื้อรถไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถขับได้จนกว่าเพื่อนๆจะมีประกัน นั่นหมายความว่าเพื่อนๆจะต้องมีประกันตั้งแต่ขับรถออกมาจากบ้านผู้ขายหรือเต๊นท์รถเลยนะครับ หากยังไม่มี ต้องไปทำประกันให้เรียบร้อยก่อน ไม่งั้นถือว่าผิดกฎหมายครับ

ในกรณีที่เพื่อนๆมีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด หลังจากค้นหายี่ห้อ และรุ่นของรถที่ถูกใจได้แล้ว เพื่อนๆอาจจะส่งรายละเอียดไปให้บริษัทประกันรถนั้น Quote ราคาค่าเบี้ยประกันเบื้องต้นก่อนที่จะซื้อรถดังกล่าวก็ได้นะครับ โดยลองเช็คได้จากhttp://www.dmv.org/car-insurance.php เพื่อที่จะได้ประเมินว่าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายในการมีรถส่วนตัวทั้งหมดเท่าไหร่ นอกจากนั้นก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าทะเบียนรถ, State Inspection และค่าเปลี่ยนอะไหล่หรือน้ำมันเครื่องต่างๆตามจำนวนไมล์ครับ

สำหรับกรณีที่เพื่อนๆคิดเรื่องการขายรถต่อ ก็สามารถประมาณคร่าวๆได้ว่ารถแต่ละคันนั้นจะมีค่าเสื่อมประมาณ 1,000 เหรียญต่อปีครับ ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนๆคิดเอาไว้ว่าจะซื้อรถมาใช้ประมาณ 2 ปีด้วยราคากลางประมาณ 8,000 เหรียญ เมื่อจะทำการขายต่อ ราคากลางของรถอาจจะอยู่ที่ราวๆ 6,000 เหรียญครับ (อันนี้เป็นการประมาณคร่าวๆสำหรับเพื่อนๆที่อยากรู้ค่าใช้จ่ายในการใช้รถครับ)

การเช็คประวัติรถ
หลังจากที่เพื่อนๆเจอรถที่ถูกใจแล้ว สิ่งที่ควรต้องทำก่อนตัดสินใจซื้อรถก็คือการเช็คประวัติรถ ซึ่งสามารถเช็คได้ว่าเคยผ่านการซ่อมมากี่ครั้ง มีอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่ หรือแม้แต่รถแต่ละคันนั้นเป็นรถซาก (Salvage Car) กล่าวคือเป็นรถที่ถูกนำมา Modify ใหม่เนื่องจากผ่านอุบัติเหตุที่รุนแรงมากมาแล้ว โดยรถซากเหล่านี้มักจะมีราคาขายที่ถูกกว่าราคากลางมาก

ทั้งนี้เพื่อนๆสามารถเข้าไปเช็คประวัติรถได้ที่ www.carfax.com โดยสิ่งที่ต้องขอมาจากเจ้าของรถหรือ Dealer ก็คือ Vehicle Identification Number หรือเรียกสั้นๆว่า VIN เพื่อนำไปใช้ในการเช็คประวัติ อย่างไรก็ตามการเช็คประวัติกับทาง Carfax นั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 25 – 35 เหรียญ (Click here) แล้วแต่ว่าเพื่อนๆต้องการเช็ครถกี่คัน

ในบางกรณี ทาง Dealer หรือทางเจ้าของรถ อาจจะเตรียม Report ตัวนี้ไว้ให้เพื่อนๆแล้วนะครับ แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ Report ที่พวกเค้าเตรียมให้นั้น Update หรือไม่

การจ่ายเงิน
สำหรับการจ่ายเงินนั้นเพื่อนๆไม่ควรทำการจ่ายเงินเป็นเงินสด (ธนบัตร หรือ Personal Check) แต่ควรที่จะทำการจ่ายเงินเป็นแบบ Cashier Check เพื่อที่ว่าจะได้มีหลักฐานการจ่ายเงินโดยสามารถติดต่อได้ที่ธนาคารที่เพื่อนๆเปิดบัญชีเอาไว้อยู่ นอกจากการจ่ายเงินแล้วเพื่อนๆต้องให้ทางผู้ขายเซ็นต์ใบโอนรถหรือที่เรียกว่า Certificate of Title เพื่อที่จะนำใบ Certificate นี้ไปให้ที่ Department of Motor Vehicle (DMV) เพื่อทำการโอนให้เรียบร้อยตามกฏหมายครับ ในบางครั้งทาง DMV อาจจะกำหนดให้เพื่อนๆต้องไปทำ Smog Check ซึ่งสามารถทำได้ที่อู่รถทั่วไป

สุดท้ายเพื่อนๆต้องเช็คให้ดีนะครับว่าทาง DMV นั้นเค้ารับใบขับขี่ระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะในบางรัฐก็ไม่สามารถใช้ใบขับขี่ต่างประเทศแทนกันได้ ลองเช็คข้อมูลได้จาก www.dmv.org

แหล่งข้อมูล:
www.pantip.com
www.kbb.com
www.dmv.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *